Event

CaRe NETWORK SYMPOSIUM 2024

ศูนย์เครือข่ายวิจัยนานาชาติ CaRe Network International Research Center
ได้จัดงาน ประชุมเชิงวิชาการ “CaRe Network Symposium 2024” หัวข้อ ”Renewable Energy for Sustainable Development Goals”


เมื่อวันที่ 20-22 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมอมารี พัทยา จังหวัดชลบุรี ภายใต้โครงการวิจัยการยกระดับนักวิจัยไทยเพื่อเป็นแกนนำในภาคีเครือข่ายสหสาขาระดับนานาชาติเพื่อการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ลดการใช้คาร์บอน ซึ่งได้รับสนับสนุนงบประมาณจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม

โดยการประชุมครั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นประธานในพิธี ภายในงานมีกิจกรรม การปาฐกถาพิเศษด้านนโยบายของ ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) การเปิดตัวโครงการและจัดแสดงผลงานนักวิจัยของโครงการยกระดับนักวิจัยไทยเพื่อเป็นแกนนําในภาคีเครือข่ายสหสาขาระดับนานาชาติเพื่อการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ลดการใช้คาร์บอน ระยะที่ 1
และระยะที่ 2

ซึ่งได้รับเกียรติจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีเปิด โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์ขยายแพลตฟอร์มการยกระดับนักวิจัยไทยให้เป็นผู้นําในภาคีเครือข่ายโลกในด้านเทคโนโลยีสำหรับพลังงานหมุนเวียนสำหรับลดใช้คาร์บอน สู่การใช้ประโยชน์ของภาคอุตสาหกรรมและองค์กรต่าง ๆ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากําลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ประกอบไปด้วยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยจำนวน 8 แห่ง และมีนักวิจัยแกนนำ ระดับ 1 ของโครงการมาจากมหาวิทยาลัย 3 พระจอม ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ภูมิ คำเอม (หัวหน้าโครงการ) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ศาสตราจารย์ ดร.ปฏิพัทธ์ ทวนทอง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ คำฝอย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี กล่าวเปิดงานประชุมวิชาการ CaRe Network Symposium 2024 และเยี่ยมชมผลงานของนักวิจัยระดับ L1-L4 ในโครงการวิจัยการยกระดับนักวิจัยไทย เพื่อเป็นแกนนำในภาคีเครือข่ายสหสาขาระดับนานาชาติเพื่อการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ลดการใช้คาร์บอน” ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ได้แก่ รถบัสไฟฟ้า รถยูนิคอน สถานีชาร์จ PEA Volta โปสเตอร์ นักวิจัย CaRe1 และ CaRe2 จากนั้น จึงได้จัดให้มีเวทีเสวนา “มุมมองการพัฒนากำลังคนของประเทศกับอนาคตของอุตสาหกรรมไทย “ ด้าน Carbon Neutrality” โดยภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ผู้แทน) ศาสตราจารย์ ดร. สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มจพ. รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. และภาคีเครือข่ายภาคเอกชน เป็นต้น


โดยการจัดการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการ Care Network ประจำปี 2567 เป็นการจัดกิจกรรมภายใต้โครงการวิจัย “การยกระดับนักวิจัยไทยเพื่อเป็นแกนนำในภาคีเครือข่ายสหสาขาระดับนานาชาติเพื่อการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ลดการใช้คาร์บอน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลงานของนักวิจัยและแพลตฟอร์มการยกระดับนักวิจัยไทย เพื่อเป็นแกนนำในภาคีเครือข่ายสหสาขาระดับนานาชาติด้านการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ลดการใช้คาร์บอน

เวทีเสวนาโต๊ะกลม (cr. @TuL Picture Talk):
มุมมองการพัฒนากำลังคนของประเทศกับอนาคตของอุตสาหกรรมไทยด้าน Carbon Neutrality

  • ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์
    คณะทำงาน BCG Model สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
  • คุณกิตติศักดิ์ วรรณแก้ว
    ผู้ช่วยผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สายงานยุทธศาสตร์ (กิจการองค์กร)
  • ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ
    รองผู้อำนวยการ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ
  • รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ.
  • ศ.ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร
    รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มจพ.
  • รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล.

การแบ่งปันข้อมูล ความต้องการจากแต่ละภาคส่วน
– ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ NanoTec เป็นตัวแทนของ บพค. เล่าถึง Platform ให้ทุน, นโยบายการสนับสนุนต่างๆ มีอะไรบ้าง เช่น Green Skill, ทุน CCUS, NbS, TRL(3-5) รวมถึง อาชีพที่จะเป็นที่ต้องการในอนาคตอย่าง Carbon Accounting และ Carbon Emission ที่นักวิจัยควรพิจารณา
– คุณกิตติศักดิ์ วรรณแก้ว กฟผ. เล่าถึง Sandbox แบตเตอรี่เก็บไฟฟ้า บนเกาะสมุย 50 MW, การพัฒนาระบบ Smart Grid ตอบคำถามสังคมว่าทำไมถึงยังไม่เปิดเสรี Solar Rooftop เหตุว่าระบบสายส่งต่างๆยังไม่รองรับจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่ยังไม่เสถียร กับ การขายคืนเข้าสู่ระบบซึ่งกำลังพัฒนาอยู่ ใช้เวลาและงบประมาณสูง วันข้างหน้าก็ต้องเปิดเสรีและความต้องการพัฒนาบุคลากรด้าน Data Analytic เพื่อนำข้อมูลที่มีมาทำให้เกิดประโยชน์มากกว่าที่เป็นอยู่
– ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ PTTGC เล่าถึงอุปสรรคของ SMEs ในสภาอุตฯกว่า 16,000 รายที่ยังมีข้อจำกัด ในการเดินไปสู่ ESG ทั้งเรื่องทุนและเทคโนโลยี การพัฒนา Carbon Credit Institute และ Carbon Credit Exchange Platform ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญของภาคอุตสาหกรรมในการไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน จากข้อตกลง COP26 และโอกาสเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ถูกลงสำหรับเอกชนทำ Decarbonize
– รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย จาก มจธ. กล่าวถึงความท้าทายของ มหาวิทยาลัยในการผลิตคนตอบโจทย์ความต้องการในอนาคต โดยเฉพาะ BCG หลักสูตรยืดหยุ่น เรียนข้ามศาสตร์ ข้ามสาขาได้, การสร้างความตระหนักให้เยาวชนในเรื่อง Climate Change และ การเชื่อมโยงกับโจทย์ภาคเอกชน ให้ทางมหาวิทยาลัยวิจัย แก้โจทย์และต่อยอดไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่ง บริษัทมหาชน ต้องกันงบ 3% จากกำไรสุทธิมาทำ R&D อยู่ที่ว่าจะหาจุดเชื่อมกันตรงไหน
– ศ.ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร จาก มจพ. : ฉายภาพสิ่งสำคัญสำหรับนักวิจัยที่ควรเพิ่มคือ Mindset แบบผู้ประกอบการ คือ วิจัยจากความต้องการของตลาด มากกว่าวิจัยตามใจตัวเอง สุดท้ายจะเพิ่มโอกาสให้งานวิจัยกลายเป็นนวัตกรรม เกิดผลเชิงพาณิชย์ได้มากกว่า และการมองไกลกว่าเดิม คือ ขอทุนจาก EU มี ข้อแม้ว่านักวิจัยเราเองต้องเตรียมพร้อมและทำวิจัยสูงกว่างานวิจัยพื้นฐาน ส่วนงานวิจัยพื้นฐานยังจำเป็นแต่แบ่ง Segment กันไปตามความพร้อม
– รศ.ดร.คมสัน มาลีสี จาก สจล. : เล่าถึง Success Case ที่ทางสจล.ได้ทำเช่น EV Bus, สถานีชาร์ทไฟฟ้า งานวิจัยเรื่องแบตเตอรี่Graphene รวมถึงเทคโนโลยีอย่าง Micro Nuclear Reactor(MNR) ที่ไทยควรพิจารณาสำหรับพลังงานในอนาคตที่สะอาดปลอดภัย

ภายในงานมีการนำเสนองานวิจัยของ สจล. ที่แสดงจะเป็นโครงการวิจัยเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ชื่อ “Promotion of Thai researchers to Associate Members of International Multidisciplinary Network in Carbon Reduction Renewable Energy Technology Design and Development” ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ EV conversion, Wireless Charger คุณลักษณะของแบตเตอรี่, มอเตอร์ และสมรรถนะของ EV จากกลุ่มการทำงานของนักวิจัยและนักศึกษา ที่มีความสามารถในระดับนานาชาติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนให้มาความร่วมมือและมีโอกาสสร้างผลงานในต่างประเทศ

นอกจากนี้ ในงาน CaRe Network SYMPOSIUM 2024 ยังมีนักวิจัย Keynote ด้าน EV และ Speakers ระดับโลกอีก 5 ท่านจาก 4 ประเทศ
และ 2 IEEE Fellows

More Information: https://www.careglobalnetwork.com/

X